[ ขยายดูภาพใหญ่ ] | ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ประชาชนประมาณร้อยละ ๘๐ ประกอบอาชีพทางการทำไร่ทำนา การเลี้ยงวัวควายเป็นส่วนประกอบของการกสิกรรม เพราะได้ใช้แรงงานจากวัวควายช่วยในการทำงานต่างๆ นับตั้งแต่ไถ พรวน ฉุดระหัดน้ำ นวดข้าว สีข้าว ลากเข็น ตลอดไปจนถึงการขนส่งผลิตผลจากท้องถิ่นห่างไกล ไปสู่ถนนหลวงหรือตลาด เนื่องจากชาวนาไทยมีที่ดินน้อย เฉลี่ยเพียงครอบครัวละ ๑๐-๒๐ ไร่หรือน้อยกว่านั้น ในบางภาค การใช้วัวควายทำงานในไร่นาจึงเหมาะสม เพราะสะดวกทีจะทำเมื่อใดก็ได้ และแล้วเสร็จได้ในเวลาไม่นาน วัวหรือควายคู่หนึ่งไถนาได้วันละ ไม่ต่ำกว่าหนึ่งไร่ ทั้งยังประหยัดเงินกว่าการจ้างรถไถนาทำงาน ซึ่งต้องเสียค่าจ้างในอัตราสูง การใช้วัวควายไถนาทำให้ได้ใช้แรงงานในครอบครัวให้เป็นประโยชน์ช่วยให้มีชีวิตชีวา และเสริมสร้างวิญญาณแห่งความรักความผูกพัน ในงานอาชีพของกสิกร ให้แก่สมาชิกของครอบครัว การเลี้ยงวัวควายเพื่อช่วยในการทำไร่ทำนาในประเทศไทยนั้น โดยทั่วไป นิยมเลี้ยงกันเพียงครอบครัวละสามตัวบ้าง ห้าตัวบ้าง แต่เมื่อรวมกันเข้าก็เป็นจำนวนสิบล้านตัว เป็นวัวและควายอย่างละประมาณครึ่งต่อครึ่งอาหารของวัวควายเหล่านี้ ได้แก่ หญ้าที่ขึ้นอยู่ตามคันนาริมถนน และท้องทุ่งที่ว่างจากการทำไร่ทำนา วัวควายจะถูกต้อนออกไปหากินในยามเช้า และกลับเข้าคอกเมื่อยามพลบ คอกวัวคอกควายมักอยู่ใกล้บ้านหรือใต้ถุนบ้าน เมื่อถึงหน้าเพาะปลูกน้ำหลาก ท้องทุ่งท้องนาเต็มไปด้วยกล้าข้าวและพืชผล ยามนี้วัวควายต้องอาศัยฟางและหญ้าแห้งที่เจ้าของเก็บกองไว้ให้ ตั้งแต่ปลายฤดูเพาะปลูกปีที่ผ่านมา เป็นอาหารเสริมไปจนกว่าจะเก็บเกี่ยวพืชผลเสร็จ วัวควายจึงเป็นอิสระในท้องทุ่งอีกวาระหนึ่ง ซึ่งในระยะนั้นอาหารวัวควายจะมีบริบูรณ์วัวควายจึงสืบพันธุ์กันในระยะนี้เป็นส่วนมาก |
No comments:
Post a Comment