Monday, August 29, 2011

การผสมพันธุ์




การผสมพันธุ์

[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
วัวควายต้องสืบพันธุ์เพื่อทวีจำนวนและให้ผลิตผลการผสมพันธุ์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินประสิทธิภาพของการเลี้ยงวัวควาย วัวควายที่ให้ผลิตผลสูงควรให้ลูกทุกปี วัวควายที่ไม่ให้ลูกย่อมไร้ประโยชน์ในแง่การให้เนื้อและนม วัวควายนมจะให้นมหลังจากคลอดลูกและจะหยุดให้นมหลังจากนั้น ๖-๑๐ เดือนจะให้นมอีกเมื่อคลอดลูกอีกครั้ง ส่วนผลิตผลของวัวควายและเนื้อและงานก็คือ ลูกวัวควายที่จำหน่ายได้ในแต่ละปีดังนั้น ผู้เลี้ยงจึงพยายามให้วัวควายออกลูกทุกๆ ปีถ้าทำได้ การผสมพันธุ์วัวควายทำได้ ๒ แบบ แบบหนึ่ง เรียกว่า ผสมธรรมชาติ อีกแบบหนึ่งเรียกว่า ผสมเทียม
การผสมธรรมชาติ มี ๒ แบบ คือ
๑. การผสมปล่อยฝูง โดยปล่อยตัวผู้ไว้ในฝูงตัวเมียในระยะ ๒-๓ เดือน โดยทั่วไปใช้ตัวผู้หนึ่งตัว/ตัวเมีย ๒๐-๓๐ ตัว
๒. การจูงผสม โดยจูงตัวผู้ไปหาตัวเมียเมื่อตัวเมียแสดงอาการสัด(รับการผสมพันธุ์) เท่านั้น หลังจากนั้นจะแยกขังตัวผู้ไว้ต่างหาก มิให้ผสมพันธุ์ตามใจชอบเหมือนแบบปล่อยฝูง วิธีนี้ใช้ตัวผู้หนึ่งตัว/ตัวเมีย ๔๐-๖๐ ตัว
การผสมเทียม ได้แก่ การนำเชื้ออสุจิจากตัวผู้ไปผสมพันธุ์ให้กับตัวเมีย โดยอาศัยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ผู้เลี้ยงรีดน้ำเชื้ออสุจิจากตัวผู้ โดยอาศัยเครื่องเพศเทียมหรือเครื่องรีดนำเชื้อไฟฟ้า ทำน้ำเชื้อให้เจือจางด้วยน้ำยาผสมเคมีดูดเข้าหลอดฉีดน้ำเชื้อ แล้วปล่อยเข้าทางอวัยวะเพศของตัวเมีย การผสมเทียมช่วยให้สามารถผสมพันธุ์ตัวเมียได้เป็นจำนวน ๑๐๐-๒๐๐ ตัว/ปริมาณน้ำเชื้อที่รีดมาครั้งหนึ่ง จึงทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากพ่อพันธุ์คุณภาพดีได้เต็มที่ และป้องกันการติดเชื้อโรคเกี่ยวกับระบบการสืบพันธุ์ได้ดีด้วย การผสมพันธุ์วิธีนี้จึงแพร่หลายมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะการผสมพันธุ์วัวควายนม




โรคของวัวควายมีอะไรบ้าง
[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
โรคของวัวควาย ในการเลี้ยงวัวควายเป็นอุตสาหกรรมนั้น นอกจากจำเป็นต้องมีการเลี้ยงดูดี อาหารดี พันธุ์ดีแล้ว ยังต้องมีการป้องกันรักษาโรคดีอีกด้วย เพราะสัตว์ที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ย่อมให้ผลิตผลสูงไม่ได้ โรคที่ร้ายแรงในวัวควาย ได้แก่ โรคปากและเท้าเปื่อย โรคคอบวม โรคแอนแทรกซ์ โรคบรูเซลโลซีส หรือโรคแท้งติดต่อ โรคแบลคเลก วัณโรค นอกจากนี้ ยังมีพยาธิอีกหลายชนิดที่เป็นศัตรูต่อสุขภาพวัวควาย ทั้งยังมีแมลงต่าง ๆ ที่ทำอันตรายวัวควายโดยตรง และเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคอีกด้วย เช่น เห็บ เหลือบ แมลงวันบางชนิด การป้องกันไม่ให้เกิดโรคพยาธิและแมลงศัตรูวัวควายเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด เพราะลงทุนน้อยได้ผลมาก ในกรณีที่วัวควายแสดงอาการเป็นโรคอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว รีบแจ้งสัตวแพทย์อำเภอ หรือสัตวแพทย์ที่ใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด




ผลผลิตจากวัวควาย
[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
นอกจากเราจะได้ใช้แรงงานจากวัวควาย และได้มูลเป็นปุ๋ยในการทำไร่ทำนาแล้ว ผลิตผลจากวัวควายอันได้แก่ เนื้อและนม ก็เป็นอาหารที่จำเป็นและมีประโยชน์สูงสุดอย่างหนึ่งต่อมนุษย์ เนื้อวัวควายเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูงถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ และยังเป็นแหล่งพลังงาน ไขมัน และแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์อีกด้วย
นมเป็นผลิตผลสัตว์ชนิดเดียวที่มีน้ำตาลแล็กโทสเชื่อกันว่า น้ำตาลแล็กโทสในนมอาจเป็นอาหารบำรุงสมอง เพราะกาแล็กโทสซึ่งเป็นส่วนประกอบของแล็กโทสนั้น พบว่า เป็นองค์ประกอบของระบบประสาทกลาง
คนไทยบริโภคผลิตผลจากสัตว์ปีละมาก ๆ ประเทศไทยสั่งผลิตภัณฑ์นมเข้าประเทศปีละประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์นมผลและนมเลี้ยงทารก นมที่ผลิตได้ในประเทศมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการนมทั้งประเทศ การบริโภคเนื้อวัวควายทั้งประเทศเมื่อคิดต่อคนอยู่ในระดับต่ำมาก คือ คนละประมาณ ๑-๒ กิโลกรัม/ปี ในขณะที่ประชาชนของบางประเทศบริโภคเนื้อวัวปีละ ๕๐-๘๐ กิโลกรัม / คน เช่น ประเทศอุรุกวัย อาร์เจนตินา ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม แม้อัตราการบริโภคเนื้อยู่ในขั้นต่ำอย่างปัจจุบัน ประเทศไทยก็ยังต้องฆ่าวัว ควายอย่างน้อยปีละ ๕-๘ แสนตัว และเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี เนื่องจากจำนวนประชากรทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว




ความต้องการวัวควายในอนาคต
[ ขยายดูภาพใหญ่ ]
การส่งวัวควายไปจำหน่ายต่างประเทศอยู่ในปริมาณน้อย เพราะความต้องการวัวควายในประเทศมีปริมาณสูง จนในบางครั้งเนื้อวัวควายในประเทศมีราคาแพงมาก ประเทศรับซื้อเนื้อวัวควายจากประเทศไทย ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ตลาดเนื้อวัวควายสำหรับส่งออกรายใหญ่ที่สุดในทวีปเอเซียได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ซื้อเนื้อวัวควายในราคาแพงและปริมาณมาก แต่ยังไม่รับซื้อวัวควายจากประเทศไทยเนื่องจากประเทศไทยยังมีโรคปากและเท้าเปื่อยอยู่หากเราสามารถกำจัดโรคนี้ได้ การส่งวัวควายไปจำหน่ายยังต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นก็จะกระทำได้มากขึ้น
เมื่อคำนึงถึงความต้องการวัวควายในอนาคตลักษณะภูมิอากาศตลอดจนวิธีการประกอบกสิกรรมของไทย ชี้ให้เห็นแนวโน้มในอนาคตว่า การเลี้ยงวัวควายจะเป็นอาชีพหลักที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของกสิกรไทย และในที่สุดการเลี้ยงวัวควายจะกลายเป็นธุรกิจที่สำคัญมากขึ้นทุกที หากราคาเนื้อวัวควายอยู่ในระดับสูงพอสควร ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เมื่อการเลี้ยงวัวควายเป็นอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ย่อมก่อให้เกิดธุรกิจรูปอื่น ๆ ที่ประกอบกับการเลี้ยงสัตว์ขึ้นอีกด้วย เช่น การค้าและการตลาดเนื้อสัตว์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ โรงงานผลิตภัณฑ์สัตว์และผลพลอยได้ โรงงานนมและผลิตภัณฑ์นม การเลี้ยงวัวควายช่วยให้การใช้แรงงานกระจายไปตลอดทั้งปี กสิกรมีงานทำเต็มเวลาไม่มีเวลาว่างอยู่เฉย ก่อให้เกิดเสถียรภาพและความสงบแก่สังคมอีกทางหนึ่ง

No comments:

Post a Comment