Monday, May 27, 2013
แนะนำการเลี้ยงและดูแลรักษาวัวชน
การ เลี้ยงวัวชนในภาคใต้ มีการเลี้ยงกันมานาน แต่เพิ่งจะมาเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งในพื้นที่ภาคใต้และแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่นด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนสนามวัวชนที่มีเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดพัทลุงและนครศรีธรรมราช มีสนามวัวชนเกือบทุกอำเภอ ส่งผลให้ราคาของวัวชนในปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นกว่าในอดีต
ปัจจุบัน ลูกวัวชนที่มีคุณลักษณะและคุณสมบัติที่ดี ราคาไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท ต่อตัว ส่วนวัวชนโตเต็มวัยราคาไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท ต่อตัว ทำให้เจ้าของวัวชนต้องดูแลและเอาใจใส่ในการเลี้ยงดูทั้งเรื่องอาหารการกิน การฝึกซ้อม การออกกำลังกาย การทำความสะอาดร่างกาย รวมไปถึงการดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี เจ้าของวัวชนจะนำวัวไปตรวจสุขภาพ ฉีดยาบำรุง ถ่ายพยาธิ ก่อนที่จะมีการแข่งขันทุกครั้ง โดยให้สัตวแพทย์เป็นผู้ตรวจ
สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ทุ่งใหญ่ เล็งเห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาพสัตว์ใน 14 จังหวัดของภาคใต้ จึงมีนโยบายให้คณะสัตวแพทยศาสตร์ เปิดให้บริการวิชาการและชุมชน
ปัจจุบัน โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้เปิดให้บริการตรวจสุขภาพและรักษาวัวชน เป็นประจำทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 08.30-16.00 น. โดยมีการให้บริการ ได้แก่
1. ตรวจสุขภาพร่างกายภายนอก
2. ตรวจเลือด เพื่อตรวจค่าเลือด การทำงานของตับและไต และตรวจหาพยาธิและโปรโตซัวในเลือด
3. ตรวจอุจจาระ เพื่อตรวจหาไข่พยาธิ
4. การตรวจร่างกายด้วยการเอกซเรย์และอัลตราซาวด์
5. การศัลยกรรมแก้ไขความผิดปกติต่างๆ โดยมีนายสัตวแพทย์เป็นผู้ตรวจและวินิจฉัยโรค
ในกรณีที่วัวชนมีอาการป่วยที่ซับซ้อน อาจมีการวินิจฉัยและการรักษาที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอาการป่วยของสัตว์ ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษานั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าสัตว์ตรวจรักษาอะไร และความซับซ้อนของโรค โดยเบื้องต้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ เช่น ค่าตรวจเลือด อุจจาระ ค่ายารักษา ในกรณีที่ต้องใช้ยาและค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งในสัตว์แต่ละตัวก็จะมีความแตกต่างกันไป ซึ่งระบบการให้บริการก็จะเหมือนกับในโรงพยาบาลคน
โดยทั่วไปแล้ว เจ้าของวัวชนจะนำวัวชนโตเต็มวัย ทั้งที่เคยแข่งขันมาแล้ว และที่ยังไม่เคยแข่งขัน มาตรวจสุขภาพร่างกายเบื้องต้น ว่ามีความพร้อมและร่างกายสมบูรณ์เพียงพอที่จะเข้าแข่งขันได้หรือไม่ เนื่องจากถ้าวัวชนร่างกายไม่พร้อมก็อาจจะทำให้เจ้าของวัวสูญเสียเงินเป็น จำนวนมากในการแข่งขัน
ในกรณีที่วัวชนเกิดความผิดปกติของร่างกายที่เจ้าของสังเกตเห็นได้ เช่น มีอาการเหนื่อยหอบง่ายในระหว่างการซ้อม ระยะเวลาในการชนลดน้อยลง วัวกินหญ้าได้น้อยลง เป็นต้น เจ้าของวัว ก็จะนำมาตรวจร่างกายและรักษาด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ในกรณีที่วัวชนเกิดการบาดเจ็บระหว่างการแข่งขัน มีบาดแผลฉีกขาดตามร่างกายจากการโดนแทง เจ้าของวัวก็จะนำวัวชนมารักษาบาดแผลและฉีดยารักษาอาการติดเชื้อแทรกซ้อน ป้องกันการเกิดความสูญเสียหลังการแข่งขันด้วย ส่วนในกรณีอื่นๆ ก็สามารถนำสัตว์มารักษาได้เช่นกัน เช่น ลูกโคท้องเสีย เหนื่อยหอบ ไม่กินอาหาร เป็นต้น
ความรู้ในการดูแลและรักษาวัวชนนั้น ส่วนใหญ่แล้วเจ้าของวัวชนยังขาดความรู้และความเข้าใจในการดูแลรักษาและ ป้องกันโรคสัตว์อยู่มาก และมีความเชื่อบางความเชื่อที่ขัดกับหลักการรักษาและป้องกันโรคในสัตว์อยู่ ดังนั้น เมื่อเจ้าของวัวชนมารับบริการ สัตวแพทย์จะให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแล รักษาและป้องกันโรคให้แก่เจ้าของสัตว์ด้วย เช่น โปรแกรมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งเป็นโรคระบาดในสัตว์กีบคู่ ซึ่งจะต้องฉีดป้องกันทุก 6 เดือน และแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคปากเท้าเปื่อยในกรณีที่เกิดโรคระบาด โปรแกรมการถ่ายพยาธิ เป็นต้น ในบางกรณีเจ้าของวัวชนก็จะมาขอคำปรึกษาจากสัตวแพทย์ได้โดยตรง
การเลี้ยงและดูแลสุขภาพวัวชนในปัจจุบัน มีพัฒนาไปมากเมื่อเทียบกับในอดีต เจ้าของวัวชนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพวัวชนมากขึ้น เนื่องจากมีผลต่อการได้เปรียบในการแข่งขัน หากวัวชนมีสุขภาพดี จะมีความแข็งแรงและสามารถต่อสู้กับคู่ต่อสู้ได้ ดังนั้น งานการดูแลรักษาและงานด้านสัตวแพทย์ จึงมีความสำคัญและมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในวงการวัวชนภาคใต้ และยังเป็นการช่วยพัฒนาความรู้และการวิจัยทางด้านวัวชนในภาคใต้ให้มีมากขึ้น ในอนาคต
Labels:
การเลี้ยงวัวชน
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment